ปัจจัยในการเลือกที่ตั้งของแต่ละคนอาจต่างกัน บางคนอาจให้ความสำคัญเรื่องค่าเช่าเป็นเรื่องหลักเพราะถูกจำกัดด้วยงบประมาณ
.
แต่สำหรับคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุนหรือค่าเช่า อาจจะอยากได้พื้นที่ที่คนพลุกพล่านหรือใกล้รถไฟฟ้ามากกว่า เพราะคนยิ่งเยอะนั่นหมายถึงโอกาสในการขายที่มากขึ้น
.
หรือร้านบางร้านที่ต้องใช้พื้นที่เยอะในการขายและต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก เช่น ร้านอาหารบุฟเฟต์หมูกระทะ หรือสวนอาหาร อาจจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยด้านระยะเวลาของสัญญาเช่ารวมไปถึงที่จอดรถมากกว่าร้านอาหารประเภทอื่น
.
การที่เราวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ โดยละเอียดทุกครั้งก่อนตัดสินใจว่าจะไปเปิดที่ไหนนั้น จะทำให้เรามีโอกาสได้ทำเลที่ตรงกับความต้องการของเรามากขึ้น และลดโอกาสที่จะเจ๊งได้ด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นลองมาดูปัจจัยในการเลือกทำเลที่ตั้งร้านอาหารกันว่ามีอะไรบ้าง
.
1. กลุ่มลูกค้า
.
ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่าคุณต้องการขายอะไร อาหารที่คุณจะขายมีจุดเด่นอย่างไร คุณควรจะมีไอเดียมาบ้างแล้วว่าคุณต้องการที่จะขายใคร
.
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการขายก๋วยเตี๋ยวที่มีจุดเด่นอยู่ที่เนื้อนำเข้า แบรนด์ดิ้งดูน่ารักทันสมัย ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 60 – 100 บาท
.
กลุ่มลูกค้าของคุณอาจเป็นพนักงานออฟฟิศในเมืองมากกว่าชาวบ้านทั่วไป ฉะนั้นทำเลที่เหมาะกับคุณอาจเป็นพื้นที่โซนสำนักงานในเมือง เช่น สุขุมวิท พหลโยธิน รัชดา เป็นต้น เพราะเป็นทำเลที่มีกลุ่มลูกค้าที่คุณมองหาอยู่และมีโอกาสเป็นลูกค้าประจำของคุณด้วย
.
2. การเข้าถึง
.
ยิ่งลูกค้าสามารถมาที่ร้านคุณได้หลากหลายช่องทางเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ร้านคุณมีโอกาสขายได้มากขึ้นเท่านั้น ถ้าร้านของคุณเดินทางมาได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น แต่กลับตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ ที่รถสวนกันยากหรือ ถ้าร้านคุณตั้งอยู่ฝั่งขาเข้าเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าจะขับรถฝั่งขาออกนอกเมืองในช่วงเย็น
.
ปัจจัยเหล่านี้ย่อมทำให้ลูกค้าอาจขี้เกียจในการขับรถมายังร้านคุณก็เป็นได้ การเข้าถึงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเดินทางมายังร้านของคุณเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงตำแหน่งที่ตั้งร้านของคุณในห้างหรือในศูนย์อาหารด้วยเช่นกัน เพราะต่อให้ร้านคุณอยู่ในห้างที่มีลูกค้าหนาแน่น แต่หากร้านของคุณอยู่ในพื้นที่ที่ลึกสุด เช่น ต้องเดินจากบันไดเลื่อนหรือลิฟต์แล้วต้องเลี้ยวหลายต่อกว่าจะไปถึงร้านของคุณ ก็คงยากที่ลูกค้าจะมองเห็นและเข้าถึงร้านของคุณอย่างแน่นอน
.
3. การมองเห็น
.
ถ้าคุณเป็นร้านที่เพิ่งเปิดใหม่คงจะดีกว่าถ้าทำเลที่คุณเลือกเป็นทำเลที่อยู่ติดถนน ที่มีรถสัญจรไปมาอยู่ตลอดหรือมีคนเดินผ่านพลุกพล่านมากกว่าที่จะอยู่ในซอยเล็กๆ
.
เพราะต่อให้วันนั้นเขายังไม่เข้ามาใช้บริการ แต่อย่างน้อยเขาจะจำชื่อร้านของคุณได้ เหมือนเป็นการโฆษณาโดยไม่ต้องเสียเงิน หรือต่อให้ร้านของคุณอาจอยู่ในซอย แต่ถ้าสามารถติดตั้งป้ายหน้าปากซอยทางเข้าได้ ก็จะช่วยให้ลูกค้ารู้ว่ามีร้านคุณตั้งอยู่ด้วยเช่นกัน
.
.
4. การแข่งขัน
.
ร้านเราไม่ได้เป็นร้านอาหารเดียวบนถนนเส้นนั้นแน่นอน การศึกษาสภาพการแข่งขันหรือคู่แข่งก่อนที่จะตัดสินใจเลือกทำเล จะทำให้เราได้เรียนรู้ว่าร้านอาหารแถวนั้นขายได้มากน้อยอย่างไร
.
ลูกค้าในละแวกนั้นเป็นใคร ราคาขายต่อหัวอยู่ที่เท่าไหร่ เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เรามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกทำเลมากขึ้น
.
การไปตั้งอยู่ในทำเลที่มีคู่แข่งอยู่แล้วมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในมุมของข้อดี ถ้าคุณเป็นร้านเปิดใหม่การอยู่ใกล้กับร้านอาหารคู่แข่งย่อมทำให้ร้านคุณเป็นที่รู้จักไปโดยอัตโนมัติ
.
5. ค่าเช่า
.
คำว่าค่าเช่าถูกแพงแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน ร้านอาหารบางประเภทที่สามารถขายราคาต่อหัวได้มากและมีกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่อาจพร้อมจ่ายค่าเช่าในราคาที่สูงกว่าร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านอาหารตามสั่ง ที่มีกำไรต่อหัวน้อย
.
ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ในคอมมูนิตี้มอลล์นอกเมืองขนาด 80 ตรม. ราคาค่าเช่าอยู่ที่ 64,000 บาท อาจเหมาะกับร้านอาหารซูชิที่ราคาต่อหัวอยู่ที่ 500 บาท มากกว่าร้านก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ชามละ 50 บาท เพราะต่อให้ขายก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 150 ชามรวมน้ำ อาจขายได้แค่วันละ 10,000 บาทหรือเดือนละ 300,000 บาท
.
เมื่อเทียบกับค่าเช่าแล้วจะเห็นว่าสัดส่วนของค่าเช่าจะอยู่ที่ 21% ซึ่งถือว่าสูงเกินไปสำหรับร้านอาหารประเภทนี้ ฉะนั้นจะเลือกทำเลไหน อย่าลืมดูด้วยว่าประเภทอาหารที่เราจะขาย รวมไปถึงราคาขายสอดคล้องกับค่าเช่าที่ที่ต้องจ่ายหรือไม่ ซึ่งโดยปกติร้านอาหารไม่ควรจ่ายค่าเช่าเกิน 10-15 % ของรายได้โดยประมาณ
.
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราคาดการณ์ว่ารายได้จะอยู่ที่เดือนละ 500,000 บาท เราก็ไม่ควรเสียค่าเช่าเกินเดือนละ 50,000 – 75,000 บาท ซึ่งค่าเช่าควรรวมไปถึงค่าส่วนกลางทั้งหมด แต่ไม่รวมค่าน้ำ ไฟ และแก๊ส
.
6. ที่จอดรถ
.
อย่าคิดว่าร้านเราอร่อย ร้านเราดัง ต่อให้ไม่มีที่จอดรถถึงอย่างไรลูกค้าก็ต้องมากิน ถ้าคุณคิดอย่างนั้นบอกได้เลยว่าคิดผิด เพราะทุกวันนี้ลูกค้ามีทางเลือกมากมาย ถ้าเขาไม่ได้รับความสะดวกสบายในการมาร้าน เขาอาจย้ายไปกินร้านอื่นที่มีที่จอดรถได้ในทันที
.
แต่ถ้าในพื้นที่ไม่มีที่จอดรถจริงๆ ก็อาจใช้วิธีเช่าพื้นที่ที่จอดรถข้างเคียงหรือ จะใช้บริการรับจอดรถ ซึ่งพบได้บ่อยบนเส้นสุขุมวิทและสีลมก็ได้ เหตุนี้ทำร้านเจ้าของร้านอาหารส่วนหนึ่งเลือกไปเปิดร้านใน Community mall หรือภายในอาคารที่มีที่จอดรถอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องแลกมากับราคาค่าเช่าที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป
.
.
SpaceCloud สามารถใช้งานได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนใจจองพื้นที่เพื่อเริ่มขายของปังๆได้ที่ https://app.getspacecloud.co/ หรือสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คอมเม้นท์หรือทัก inbox มาที่ https://www.facebook.com/getspacecloud/ ได้เลย